ชื่อ: คอน ติท มอง
อายุ: 29 ปี
ภูมิลำเนา: เมืองป๋างลอง รัฐฉาน ประเทศเมียนมา
สถานที่ทำงานปัจจุบัน: ตำบลคึกคัก จังหวัดพังงา ประเทศไทย
คอน ติท มอง เดินทางจากเมียนมามายังประเทศไทยตั้งแต่อายุ 23 ปี และไม่ได้กลับไปอีกเลย แม้ตอนแรกจะลังเล แต่เขาก็ตกลงเดินทาง ตามความต้องการของภรรยา คอน ติท มอง รู้จักคนในพื้นที่ตำบลคึกคัก จังหวัดพังงา ซึ่งช่วยหางานให้ได้ ทำให้เขาตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
คอน ติท มอง เป็นลูกคนที่ 6 จากพี่น้องทั้งหมด 9 คน ของครอบครัวเกษตรกรกลุ่มชาติพันธุ์ปะโอในเมียนมา เขาเติบโตขึ้นมาพร้อมกับการทำงานในนาข้าวและไร่ข้าวโพดของครอบครัว ซึ่งผลผลิตที่ได้ส่วนใหญ่จะเก็บไว้บริโภคเอง และบางครั้งจะขายส่วนที่เหลือเพื่อเป็นรายได้ แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ
นอกจากการช่วยเหลือครอบครัวแล้ว คอน ติท มอง ยังรับงานเป็นลูกจ้างรายวันให้กับเจ้าของที่ดินรายใหญ่ แต่เนื่องจากเขาต้องออกจากโรงเรียนตั้งแต่อายุ 10 ปี ทำให้โอกาสในการทำงานในเมียนมามีจำกัด คอน ติท มอง จึงเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยผ่านช่องทางชายแดนจังหวัดระนอง หลังจากรวบรวมเอกสารที่จำเป็นได้ครบถ้วน
ตลอดเวลาที่อยู่ประเทศไทย คอน ติท มอง อาศัยและทำงานอยู่ในสวนปาล์มที่ตำบลคึกคัก จังหวัดพังงา เขาเป็นส่วนหนึ่งของทีมงานเล็กๆ ที่มีสมาชิก 3-4 คน รับจ้างตัดผลปาล์มเป็นรายวัน ได้รับค่าเเรง 500 บาท ต่อผลปาล์ม 1 ตัน ซึ่งจะนำมาหารกันตามจำนวนแรงงาน โดยเฉลี่ย พวกเขาสามารถตัดผลปาล์มได้ประมาณ 4-5 ตัน ต่อวัน มีรายได้ประมาณวันละ 500 บาทต่อคนต่อวัน อย่างไรก็ตาม งานตัดผลปาล์มนั้นไม่มีความแน่นอน บางวันเขาไม่มีงานเลย อย่างในเดือนมกราคม 2567 เขามีรายได้รวม 8,000 บาท
แม้จะมีความท้าทาย แต่ คอน ติท มอง ยังไม่คิดที่จะกลับเมียนมา โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีสถานการณ์ความไม่สงบภายในประเทศ และความเสี่ยงที่จะถูกเกณฑ์ทหาร
สำหรับ คอน ติท มอง หนึ่งในปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของการใช้ชีวิตในประเทศไทย คือค่าใช้จ่ายในการต่ออายุใบอนุญาตทำงานและหนังสือรับรองถิ่นที่พักอาศัย ซึ่งสูงกว่าค่าธรรมเนียมที่ “ทางการ” กำหนดไว้ อันเนื่องมาจากการผูกขาดของตัวแทนจัดทำเอกสารแรงงานในพื้นที่ในกระบวนการยื่นขอเอกสาร โดยมักมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่เกินจริง แต่เช่นเดียวกับแรงงานข้ามชาติอีกหลายคน คอน ติท มอง ไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ ทำให้พวกเขาต้องพึ่งพาตัวแทนเหล่านี้
คอน ติท มอง หวังว่าแรงงานข้ามชาติรุ่นใหม่ที่อพยพมายังประเทศไทยเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมาจะได้รับการปฏิบัติและความช่วยเหลือที่ดีกว่าที่ตนเองได้รับ เนื่องจากหลายคนไม่ได้เดินทางเข้ามาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หากแต่เป็นผู้ลี้ภัยจากความรุนแรงและความอยุติธรรม
ภาพ: ลุค ดักเกิลบี