เป็นเวลายาวนานกว่า 20 ปีแล้วที่ ซาน เหนี่ยง อาศัยอยู่ที่จังหวัดเชียงราย ประเทศไทย ที่ซึ่งห่างไกลจากบ้านเกิดของเขาในเชียงตุง ประเทศเมียนมา เขาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยกะกลางคืนที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งเพื่อเลี้ยงภรรยาและลูกๆอีก 3 คน
“พ่อของผมเป็นทหารที่ย่างกุ้ง แต่ผมไม่เคยอยากเป็นทหารเลย ตอนผมเด็กๆ พี่ชายของผมเดินทางมายังประเทศไทยและไม่ได้กลับไปอีกเลย แม่ผมหัวใจแตกสลายและด้วยเหตุนี้แม่จึงไม่อยากให้ผมเดินทางมาประเทศไทยเหมือนพี่ชาย” ซาน เหนี่ยง เล่าให้ฟัง
“พอผมโตขึ้น ผมเริ่มทำงานขับรถบรรทุกระหว่างเมืองตองจี (Taunggyi) และ ท่าขี้เหล็ก (Tachileik) ซึ่งเป็นเมืองชายแดนของประเทศเมียนมา ต่อมาญาติของผมที่ทำงานที่ประเทศไทยพยายามชักชวนผมให้เข้ามาทำงานหาเงินในประเทศไทยด้วยกัน และบอกว่าผมจะได้ค่าตอบแทนที่ดีกว่ามาก ผมจึงตัดสินใจเดินทางมายังประเทศไทย และทำงานที่ร้านก๋วยเตี๋ยวแห่งหนึ่งเป็นเวลา 1 ปีเต็ม”
ต่อมา ซาน เหนี่ยง ได้ย้ายไปทำงานเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยกะกลางคืนให้กับร้านอาหารแห่งหนึ่ง “ผมมีลูกๆ 3 คน เงินที่หาได้ก็หมดไปกับค่าเทอมของเด็กๆ ลูกสาวคนโตตอนนี้อายุ 21 ปีแล้ว กำลังเรียนอยู่มหาวิทยาลัย ลูกชายคนที่สองเรียนอยู่ประถมศึกษาปีที่ 4 และลูกชายคนเล็กอายุ 4 ขวบเท่านั้น”
ในยามว่าง เขาอาสาทำงานให้กับกลุ่มเพื่อนๆที่เป็นแรงงานข้ามชาติในจังหวัดเชียงรายโดยให้ความช่วยเหลือด้านภาษาและกฎหมายให้กับคนที่ต้องการความช่วยเหลือ
“คนในชุมชนของเราส่วนใหญ่เป็นคนเมียนมาและคนไทใหญ่จากรัฐฉาน ทำงานในไซต์ก่อสร้างและรับจ้างทั่วไป ผมจะใช้เวลาในช่วงพักเที่ยงของผมเพื่อช่วยเหลือเพื่อนแรงงานข้ามชาติเหล่านี้เพื่อจัดการปัญหาความขัดแย้งส่วนตัวต่างๆ รวมถึงให้ความช่วยเหลือด้านภาษาและกฎหมายโดยไม่คิดเงิน” ซาน เหนี่ยง อธิบายให้เราฟัง
เพื่อนของเขาให้สมญานาม ซาน เหนี่ยง ว่า “บริการฟรี มีเมตตา”
ในปี พ.ศ. 2562 มูลนิธิชนเผ่าลุ่มน้ำโขง หรือ Mekong Minority Foundation ได้แนะนำให้ ซาน เหนี่ยง เข้าร่วมอบรมเรื่องสิทธิแรงงาน, ปัญหาการค้ามนุษย์ และประเด็นกฎหมายที่จำเป็นอื่นๆ ที่จัดขึ้นโดย The Freedom Story ซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ในประเทศไทย สนับสนุนโดยองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา หลังจากที่เขาได้เข้าอบรมกับ The Freedom Story ซาน เหนี่ยง ตัดสินให้ความช่วยเหลือแก่เพื่อนแรงงานอย่างจริงจังมากขึ้น
และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เขาก็เดินหน้าให้ความช่วยเหลือเพื่อนแรงงานอย่างต่อเนื่อง
“ผมมาเป็นอาสาสมัครเพราะผมมีความสุขมากที่ได้ช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน” ซาน เหนี่ยง กล่าว “คนที่มีอุปสรรคด้านการสื่อสารนั้นจะใช้ชีวิตด้วยความยากลำบากมาก พวกเขาไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ตามที่ต้องการ พวกเขาต้องยอมจำนนและถูกคนอื่นๆบังคับและเอาเปรียบเพราะเขาไม่รู้ว่าจะปกป้องตัวเองได้อย่างไร ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่ผมสามารถช่วยเหลือพวกเขาได้ ผมยินดีที่จะทำ ผมใช้รถจักรยานยนต์ของผมเอง เติมน้ำมันเอง ไม่เคยเก็บเงินจากใครเลย”
แรงงานข้ามชาติที่อยู่ในชุมชนเดียวกันกับ ซาน เหนี่ยง รู้ว่าพวกเขาสามารถตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกเอาเปรียบได้ตลอดเวลา และการที่นายจ้างสัญญาว่าพวกเขาจะได้รับค่าแรงที่ดี หรือทำงานในสภาพแวดล้อมที่ดีนั้นอาจจะไม่เป็นจริงเสมอไป เมื่อใดที่เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้น คนในชุมชนจะทราบถึงสิทธิของตนเอง พวกเขาจะช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับคนในชุมชนเกี่ยวกับสิทธิแรงงานรวมถึงให้ข้อมูลเกี่ยวกับหน่วยงานที่ให้บริการทางกฎหมายสำหรับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลืออีกด้วย
วันนี้จากความรู้จากการเข้าอบรมรวมกับประสบการณ์ที่ ซาน เหนี่ยง สั่งสมมาตลอดหลายปีทำให้เขาสามารถช่วยเรียกร้องค่าชดเชยให้กับสมาชิกในชุมชนของเขา รวมทั้งช่วยผลักดันเรื่องร้องเรียนต่างๆเข้าสู่การพิจารณาของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ทุกวันนี้เขามีความเข้าใจถึงภาษากฎหมายที่ใช้และข้อกฎหมายต่างๆของไทย และเขายังรู้ดีว่าเขาสามารถช่วยคนอื่นๆได้อีกมากมาย
ภาพโดย สุเทพ กฤษณาวารินทร์