ซิน หม่า โช

สุราษฎร์ธานี

กลับ

เริ่มต้นเช้าวันใหม่ด้วยความเหนื่อยล้า ผลจากการลำบากตรากตรำมาตลอดทั้งวัน

“ที่เมียนมาไม่มีงาน หรือต่อให้มีก็หาเงินได้ไม่พอกินเพราะค่าแรงถูกมาก แถมยังไม่มีงานสำหรับผู้หญิง ฉันโตมาในสังคมที่ผู้ชายเป็นฝ่ายทำงานหาเลี้ยงครอบครัว” บทสัมภาษณ์จาก ซิน หม่า โช

ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน ซิน หม่า โช ขึ้นรถไฟจากบ้านเกิดเมืองเมาะละแหม่ง รัฐมอญ ประเทศเมียนมา เพื่อมาขึ้นเรือที่เมืองทวาย ข้ามมาขึ้นฝั่งที่จังหวัดระนอง ประเทศไทย ก่อนที่จะย้ายมาอยู่ในสวนยาง จังหวัดสุราษฎร์ธานีที่ที่ ซิน หม่า โช ปักหลักทำงานมายาวนานกว่า 15 ปี 

“ฉันทำงาน 3 วัน ได้หยุด 1 วัน” ซิน หม่า โช เล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงที่เหนื่อยล้า “ในแต่ละวันฉันต้องเตรียมมีดกรีดยางที่แหลมและคมมากๆ ถ้าคืนไหนเกิดทำมีดกรีดยางหัก ฉันต้องย้อนกลับไปที่บ้านและต้องเสียเวลาเพื่อซ่อมมีดพวกนั้น การเดินในสวนยางในตอนกลางคืนทั้งมืดและน่ากลัว มีทั้งงู แมงป่อง และสัตว์มีพิษมากมายที่อาจทำร้ายเราได้ เพราะฉะนั้นรองเท้าบูทและไฟฉายจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับเรามาก บางครั้งเราถือไฟฉายมากกว่า 2 เครื่องด้วยซ้ำ” ซิน หม่า โช เล่าเพิ่มเติม 

ถึงแม้ว่าจะทำงานในสวนยางมานาน แต่โชยังคงรู้สึกไม่มั่นคง เนื่องจากเธอไม่รู้ถึงสิทธิของตนเองในฐานะแรงงานข้ามชาติ

ปี พ.ศ. 2562 ชีวิตของโชได้เปลี่ยนไป โชได้พบกับ เจ้าหน้าที่ภาคสนามจากมูลนิธิรักษ์ไทย หนึ่งในองค์กรพันธมิตรในโครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ในประเทศไทย สนับสนุนโดยองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา

มูลนิธิรักษ์ไทยได้ให้ความช่วยเหลือกลุ่มแรงงานข้ามชาติเหล่านี้โดยจัดตั้งเป็นกลุ่มเฉพาะขึ้นเพื่อเปิดพื้นที่ให้กับแรงงานข้ามชาติในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีและปลอดภัย โดยสมาชิกได้มีการพบปะกันมาแล้ว 8 ครั้ง เพื่อหารือกันในหลายประเด็นที่แตกต่างกันออกไป เช่น สิทธิแรงงาน, โอกาสในการทำงานในประเทศไทย, งานประเภทใดบ้างที่เป็นงานต้องห้าม, เอกสารที่ต้องใช้หากต้องการเปลี่ยนงาน นอกจากนี้ยังมีการพูดคุยและให้ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงาน เพื่อที่ให้แรงงานกลุ่มนี้สามารถประเมินตนเองเมื่ออยู่ในสถานการณ์เสี่ยง

นี่เป็นแค่เพียงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงในชีวิตโช และเพื่อนๆของเธอ 

วันนี้ ซิน หม่า โช และเพื่อนๆ มีความมั่นใจและรู้สึกมั่นคงในงานที่พวกเธอทำอยู่ พวกเธอรู้ถึงสิทธิตามกฎหมายที่พวกเธอมี รวมถึงการเข้าถึงเอกสารสำคัญต่างๆ  เช่น การขอสูติบัตรสำหรับลูกๆของพวกเธอ ยิ่งมีข้อมูลมากเท่าไหร่ พวกเธอยิ่งรู้สึกมีความมั่นใจและดูแลตัวเองได้ดีขึ้น วันนี้โชและเพื่อนได้เริ่มส่งต่อสิ่งที่เธอได้เรียนรู้จากมูลนิธิรักษ์ไทยให้กับเพื่อนแรงงานข้ามชาติคนอื่นๆในทุกที่ที่พวกเธอมีโอกาส 

“ก่อนหน้านี้ ฉันไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต้องทำอย่างไรหากเพื่อนของฉันคลอดลูกในประเทศไทย แต่หลังจากที่ได้รับทราบข้อมูลจากมูลนิธิรักษ์ไทย ฉันสามารถช่วยเพื่อนของฉันให้ได้รับใบสูติบัตรสำหรับลูกๆของพวกเธอจากที่ว่าการอำเภอได้ และหากใครเกิดเจ็บป่วยขึ้นมาเราก็ช่วยกันพาคนป่วยไปที่โรงพยาบาลได้ทันที เพราะเรารู้ว่าเรามีสิทธิที่จะได้รับการรักษา และเข้าถึงบริการสาธารณสุขเหมือนคนทั่วไป ซึ่งก่อนหน้านี้ฉันไม่เคยรู้มาก่อน” ซิน หม่า โช เล่าปิดท้าย


ภาพโดย สุเทพ กฤษณาวารินทร์

ติน ซา อู

NEXT STORY

ติน ซา อู

tin-zar-oo