มะพิว

สุราษฎร์ธานี

กลับ

มะพิว อายุ 41 ปี เป็นแรงงานหญิงชาวเมียนมาที่จากบ้านเกิดเมืองทวาย ประเทศเมียนมา เมื่อ 13 ปีที่แล้วเพื่อมาหางานทำกับสามีในประเทศไทย ปัจจุบันเธอทำงานที่สะพานปลาอุสา และอาศัยอยู่ที่อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี

“ตอนที่ฉันอยู่ที่เมียนมา ฉันเป็นแม่บ้าน ส่วนสามีของฉัน (จ่อ ซู งู) เป็นชาวประมง แต่รายได้ของเขาไม่พอเลี้ยงครอบครัว พวกเราเลยตัดสินใจที่จะย้ายมาประเทศไทย”

เมื่อมาถึงประเทศไทยครั้งแรก พวกเขาพักอยู่ที่จังหวัดระยอง หลังจากนั้นอีก 5 ปีจึงได้ย้ายมาอยู่ที่ อำเภอมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นตลาดปลาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เขาทั้งคู่อาศัยและทำงานในโรงงานแปรรูปอาหารทะเลและอยู่ที่นี่กว่า 3 ปี แต่เนื่องจากสภาพที่ทำงานรวมถึงแรงกดดันในการทำงานที่มีสูงทำให้พวกเขาตัดสินใจย้ายที่อยู่อีกครั้ง โดยครั้งนี้ได้ลงหลักปักฐานที่อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานีและอยู่ที่นี่จนถึงปัจจุบัน 

มะพิวมีลูก 2 คน ลูกชายคนโตอายุ 18 ปี เกิดและอาศัยอยู่กับยายที่ประเทศเมียนมา ลูกสาวของเธออายุ 5 ขวบอยู่กับเธอที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปัจจุบันมะพิวทำงานที่สะพานปลากับแรงงานข้ามชาติคนอื่นๆ คัดแยกและชั่งน้ำหนักปลาจากเรือประมงที่เข้ามาเทียบท่าก่อนที่จะส่งปลาออกไปขายในตลาด โดยปกติมะพิวจะเริ่มงานตั้งแต่ 7 โมงเช้าถึงเที่ยง แต่หากมีเรือประมงเข้ามาเยอะซึ่งก็หมายถึงจำนวนปลาที่ต้องคัดแยกและชั่งน้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้อาจจะต้องทำงานต่อเนื่องจนถึงบ่ายสามโมง 

“งานของฉันก็ไม่ได้หนักมาก บางครั้งก็ไม่มีงานเลยด้วยซ้ำ แต่นายจ้างก็ยังให้ค่าตอบแทนประมาณ 8,000 บาทต่อเดือน และสามีของดิฉันก็เป็นหัวหน้าแรงงานงานบนเรือ” มะพิวเล่าเพิ่มเติม

มะพิวและเพื่อนๆชาวเมียนมาของเธอเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่อาศัยอยู่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่รวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็งกว่า 1,000 คน วันหนึ่งเธอและเพื่อนๆได้รับคำเชิญให้เข้าร่วมการประชุมและการอบรมที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิรักษ์ไทย โดยมีหัวข้อการอบรมที่พูดถึงเรื่องของบริการสาธารณสุข, สิทธิแรงงาน, ประกันสังคม, และปัญหาการค้ามนุษย์ โดยมูลนิธิรักษ์ไทยเป็นหนึ่งในองค์กรพันธมิตรในโครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ในประเทศไทย สนับสนุนโดยองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา

การอบรมนี้ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ ให้ความรู้ ซึ่งทำให้แรงงานข้ามชาติเหล่านี้เข้มแข็งขึ้น

หลังจากการอบรมสิ้นสุดลง มะพิวได้รับแรงบันดาลใจและหวังอยากให้เพื่อนแรงงานข้ามชาติคนอื่นๆได้มีโอกาสเช่นเดียวกับเธอ เธอเริ่มออกพบปะพูดคุยกับสมาชิกคนอื่นๆในชุมชนของเธอเพื่อแลกเปลี่ยนและให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิแรงงานข้ามชาติ ต่อมามูลนิธิรักษ์ไทยเห็นถึงความตั้งใจของเธอที่จะช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติคนอื่นๆ ในเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2562 มูลนิธิรักษ์ไทยจึงได้เชิญชวนให้เธอเข้ามาร่วมเป็นอาสาสมัคร 

“ความฝันของฉันคืออยากให้แรงงานข้ามชาติที่กำลังลำบากได้รับความช่วยเหลือ ฉันไม่มีเงินทองแต่อย่างน้อยฉันสามารถช่วยให้กำลังใจเพื่อให้คนเหล่านี้ลุกขึ้นสู้ต่อไปได้ และฉันก็ยังสามารถช่วยแชร์ข้อมูลข่าวสารต่างๆเพื่อช่วยให้พวกเขาทำฝันของเขาให้เป็นจริง”


ภาพโดย สุเทพ กฤษณาวารินทร์

จยิง วิน

NEXT STORY

จยิง วิน

story-of-kying-win